โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็น
เร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ความเป็นมา
ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยมีนัยยะทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงมูลค่า โดยประเทศไทยสามารถใช้พื้นที่ทางทะเลได้ 2 ด้าน 3 ส่วนด้วยกัน คือ ด้านตะวันออกในส่วนของอ่าวไทย และ ด้านตะวันตกในส่วนของทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาตอนเหนือ การประเมินผลประโยชน์ทางทะเลที่ประเทศไทยพึงได้รับในปี พ.ศ. 2557 มีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านบาท (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต แต่สัดส่วนของผลประโยชน์ดังกล่าวกลับตกอยู่ในมือคนไทยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก อนึ่ง ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น หากยังรวมถึงทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากล บริเวณพื้นที่ และเขตทางทะเลของประเทศอื่นทั่วโลกที่สามารถทำความตกลงกันได้ ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาต่างๆทางทะเลที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตที่ยังคงรอการแก้ไข ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันจะส่งผลกระทบได้ทั้งในเชิงบวกและลบต่อประเทศไทยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ว่ามีความเหมาะสม แค่ไหน อย่างไร
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นสื่อให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่จะต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบในการหาคำตอบในประเด็นปัญหาต่างๆทางทะเล ที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศในระดับต่างๆ โครงการ “การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย” โครงการนี้ มีลักษณะเป็นโครงการคู่ขนานกับ โครงการหลักในหัวข้อเรื่อง “โครงการสถานการณ์และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย เพื่อความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งที่จะให้ได้คำตอบสำหรับประเด็นปัญหาทางทะเลบางส่วนที่มีอยู่แล้วหรือที่ได้จากโครงการหลักซึ่งอาจต้องการคำตอบให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมีข้อเสนอแนะประกอบการตัดสินใจเชิงบริหารก่อนที่โครงการหลักจะสิ้นสุดลง โดยใช้กระบวนการในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการแก้ไขในรูปแบบของ การเข้าไปร่วมทางนโยบายบนฐานความรู้ที่เหมาะสม (Science Policy Interface)[1] อนึ่ง กิจกรรมภายใต้โครงการนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดเวทีกลางและวัฒนธรรมของภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันแก้ปัญหาทางทะเลที่มักจะเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เกี่ยวโยงกับหลายส่วน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยมุมมองในการแก้ไข ในลักษณะที่ ข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาอาชีพ มาบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดผลขึ้นเป็นรูปธรรมอีกด้วย สำหรับตัวอย่างของโจทย์หรือปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลที่จะดำเนินการภายใต้โครงการนี้ อาทิเช่น แนวทางเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวในทะเลไทย แนวทางการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์และการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing; IUU Fishing) ของประเทศไทยและแนวทางในการแก้ไข ปัญหาขยะทะเลและแนวทางการแก้ไขสำหรับทะเลไทย ปัญหาการรุกล้ำเขตทำการประมงของไทยโดยเรือประมงต่างชาติและแนวทางในการแก้ไข เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทั้ง มิติความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
วัตถุประสงค์
เพื่อจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อ (Policy brief) ต่อประเด็นปัญหามีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับต่างๆ ในสังคม
|