ผลจากการจัดเวทีสังเคราะห์ความรู้ในรูปของการเสวนาและการจัดทำบทสังเคราะห์โดยนักวิชาการสาขาต่างๆ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
โอกาสและสิ่งท้าทายในการใช้ทะเลของประเทศไทย
1. ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลในระดับนโยบาย
- รัฐบาลต้องช่วยผลักดันหรือส่งเสริมการนำทรัพยากรในเขตทะเลหลวงมาใช้ประโยชน์
- การพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทยในภาคใต้ (East-West Southern Economic Land-bridge Project) ควรให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้น
- กฎหมายที่ควบคุมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในปัจจุบัน เช่น กฎหมายการให้สัมปทานกับบริษัทต่างประเทศ กฎหมายการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชนต่างประเทศ ควรมีความทันสมัยและชัดเจนเพื่อให้เกิดการใช้ทะเลอย่างยั่งยืน
- การพิจารณาปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศและการเข้าร้วมเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อเป็นกรอบ/แนวทางสำหรับกิจกรรมบางประเภท เช่น การนำแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เลิกใช้แล้วมาแปรสภาพเป็นปะการังเทียม
- ควรจัดทำยุทธศาสตร์ทางทะเลของไทย ให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ทางทะเลของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้เกิดการพัฒนา หรือการลงทุนที่สอดคล้องกัน
2. ทรัพยากรมีชีวิต
ประเทศไทยมีโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรมีชีวิตพอสมควร ได้แก่
- ความสามารถด้านการทำการประมงของไทยมีสูงทั้งในอาณาเขตและนอกอาณาเขต
- มีงานวิจัยและข้อมูลที่เกี่ยวกับทรัพยากรมีชีวิตทางทะเลมากมายหลายสาขา แต่ขาดการบูรณาการและการประยุกต์ใช้ในกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม
- ปัจจุบันมีชุมชนชายฝั่งเป็นจำนวนมากที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นของตน ภาครัฐควรมีส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างจริงจัง
- การทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการทำการประมงร่วมกัน เช่น พม่า มาเลเซีย
- การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UNCLOS 1982 เปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากทะเลได้มากขึ้น
3. การขนส่ง
- การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือควรประกอบด้วย สินค้า การขนส่ง และตลาดที่จะมารองรับ จะต้องมีการวางแผนร่วมกัน ทุกหน่วยงาน องค์กร ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
- การจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือที่เป็นระบบในระดับประเทศที่สอดลัองกับ โครงข่ายคมนาคมทางบก และเส้นทางการเดินเรือของโลก โดยคำนึงถึง การพัฒนาพื้นที่แนวหลังและการแข่งขันกับท่าเรือต่างประเทศ
4. ทรัพยากรไม่มีชีวิต
ทะเลนับว่าเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่สำคัญของประเทศ ประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตปิโตรเลียมมาจากแหล่งในทะเล ทำให้รัฐมีรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมซึ่งประกอบด้วยค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเป็นจำนวนมาก
จากผลการศึกษาทางธรณีวิทยานักวิชาการปิโตรเลียมพบว่าอ่าวไทยนับว่าเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีความสมบูรณ์และมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ รัฐบาลของประเทศรัฐชายฝั่งรอบอ่าวไทยจึงหันมาให้ความสนใจศึกษาและมีการประกาศเขตทางทะเลของรัฐต่างๆ รอบอ่าวไทย ทำให้มีการประกาศเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันทั้ง ไทย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ทำให้เกิดการเจรจาเรื่องความตกลงกำหนดเขตไหล่ทวีประหว่างประเทศต่างๆ ในอ่าวไทย ตั้งแต่ปี 2513 พื้นที่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่พื้นที่พัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area, JDA) เมื่อปี 2522 โดยการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน และในปี 2540 ได้มีข้อตกลงเส้นแบ่งเขตทางทะเลของไทยกับเวียดนาม
ในส่วนของแหล่งพลังงานในทะเลก็ได้ยังมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นนอกเหนือจากมาเลเซีย เช่น กัมพูชา พม่า การหาพลังงานทดแทน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากทะเล เช่น น้ำขึ้น-น้ำลง คลื่น และความร้อนจากมหาสมุทร
ในอดีตการผลิตแร่ดีบุกส่วนใหญ่มาจากแหล่งแร่ดีบุกในทะเล การผลิตแร่ดีบุกเริ่มลดลงเมื่อราคาโลกตกต่ำ และการทำแร่ดีบุกในทะเลก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งแต่ปี 2548 แร่ดีบุกที่ผลิตได้ทั้งหมดล้วนมาจากแหล่งผลิตบนบกทั้งสิ้น ปัจจุบันต้องนำเข้าดีบุกในรูปโลหะดีบุกจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังมีปริมาณสำรองแร่ดีบุกในทะเลอีกมากก็ตาม แต่เนื่องจากพื้นที่ที่พบแหล่งแร่มักจะซ้อนทับหรืออยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณนั้นได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาหาแนวทางที่จะนำแร่ดีบุกจากแหล่งในทะเลมาใช้ในอนาคตโดยเมื่อเกิดความจำเป็นไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของแร่ทรายแก้ว ปริมาณความต้องการใช้และปริมาณการผลิตมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ประเทศไทยจึงยังมีปริมาณสำรองทรายแก้วให้ใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 230 ปี ควรให้ความสำคัญในการพัฒนานำแหล่งทรายชั้นดีในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน มาใช้ประโยชน์ แต่ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชายฝั่งด้วย
5. การประเมินมูลค่าของผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงประโยชน์มากมายที่ได้รับจากทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้โดยตรง เช่น บทบาทในการสนับสนุนการประมง การท่องเที่ยวของระบบนิเวศทางทะเล ทำให้การกำหนดนโยบายทางทะเลของประเทศสามารถทำได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการนำทรัพยากรทางทะเลมาพัฒนาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว การประเมินค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่ผ่านมา ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ การขาดข้อมูลและแนวทางการประเมินที่ถูกต้อง ทำให้บางครั้งอาจได้มูลค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีมูลค่าที่ไม่ได้นำมาประเมินเนื่องจากขาดข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลค่าผลประโยชน์โดยอ้อมที่ไม่สามารถคิดเป็นเงินได้ เช่น บทบาทของระบบนิเวศในทะเล ขณะเดียวกันบางครั้งอาจได้มูลค่าในบางสาขาอาจสูงเกินความเป็นจริงเนื่องจากขาดข้อมูลในรายละเอียดเฉพาะด้านทำให้เกิดความซ้ำซ้อน เช่น มูลค่าที่ได้จากสาขาการขนส่ง (พาณิชยนาวี) จะค่อนข้างสูงและอาจเป็นมูลค่าที่ซ้ำซ้อนกับข้อมูลที่ได้จากสาขาการผลิต เนื่องจากเป็นการคิดมูลค่าของสินค้าที่ส่งออกและนำเข้าทั้งหมด
แนวทางการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลควรคำนึงถึงองค์ประกอบดังนี้
1. การประเมินควรครอบคลุมมูลค่าการใช้ประโยชน์ (use value) และมูลค่าที่ไม่ใช้ประโยชน์ (non-use value)
2. การกำหนดกิจกรรมการใช้ประโยชน์ควรรวมถึงกิจกรรมการใช้ทรัพยากรและการใช้พื้นที่ทางทะเล กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และความเชื่อมโยงกับกิจกรรมด้านอื่นๆ ทั้งที่เป็นการเชื่อมโยงจากภายนอก (ใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก) และการเชื่อมโยงสู่ภายนอก (การส่งผลผลิตสู่ภายนอก)
3. การประเมินมูลค่าควรรวมรายได้ของรัฐนอกจากผลิตภัณฑ์มวลรวมด้วย เช่น การจ้างงาน ภาษีและการส่งออก
นอกจากนี้ ข้อมูลก็นับว่ามีความสำคัญที่จะทำให้การประเมินมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ การขาดข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้าน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถูกต้องและทันสมัยนับเป็นเรื่องที่ท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันหลายประเทศได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการประเมินผลประโยชน์ทางทะเลมากขึ้น จึงมีการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ของการประเมินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสามารถเปรียบเทียบกันได้ เช่น เอเปค ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ประเทศไทยจึงควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์ในการประเมินและปรับปรุงระบบข้อมูลให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันในระดับประเทศ และเพื่อให้การรายงานมูลค่าจากการใช้ประโยชน์จากทะเลมีมาตรฐานใกล้เคียงและสามารถเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้ด้วยการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องต่อไปนี้
1. แนวทางในการกำหนดและจำแนกประเภทของกิจกรรมทางทะเลของประเทศไทยเพื่อประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value) โดยเปรียบเทียบกับแนวทางในภูมิภาค เช่น เอเปค และของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน
2. การศึกษาเพื่อกำหนดวิธีการประเมินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยสำหรับมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ทางอ้อม (indirect use value) มูลค่าสงวนไว้ใช้ในอนาคต (option value) และ มูลค่าไม่ใช้ประโยชน์ (non-use value) ซึ่งรวมถึงมูลค่าคงอยู่ (existence value) และ มูลค่าเพื่อลูกหลาน (bequest value)
3. การกำหนดมาตรฐานของข้อมูลด้านต่างๆ ที่จำเป็นในการประเมิน