โครงการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
Knowledge Management for National Marine Interests Project
Thailand Research Fund (TRF)
ความเป็นมา
ผลการดำเนินงานโครงการสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของประเทศไทยกับการใช้ทะเลอย่างยั่งยืนในปี 2550 ได้ผลักดันกลไกที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล 2 ส่วน คือ คณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลและระบบฐานข้อมูลความรู้ทางทะเลในเบื้องต้นซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ http://marinepolicy.trf.or.th
โครงการสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของประเทศไทยกับการใช้ทะเลอย่างยั่งยืนได้ก่อให้เกิดการตระหนักของทั้งภาคราชการ เอกชน และประชาชนถึงความสำคัญของทะเลทั้งในแง่บทบาทของทะเลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการมีนโยบายแห่งชาติทางทะเลแบบบูรณาการ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของโครงการสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของประเทศไทยกับการใช้ทะเลอย่างยั่งยืนยังมีข้อจำกัด ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้จะมีเฉพาะในภาพรวม ฐานข้อมูลไม่ครอบคลุมทุกด้าน และส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลในระดับประเทศ การมีส่วนร่วมก็ยังเน้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนกลาง การจะนำไปสู่การจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลอย่างยั่งยืนให้ไปถึงจุดมุ่งหมายยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยการพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้านเพิ่มเติมรวมทั้งปรับปรุงข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง การเพิ่มองค์ความรู้ในระดับจังหวัดและพื้นที่ และการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น
จากเหตุผลดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลเพื่อประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้เฉพาะด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลในระดับชาติ เพื่อให้บรรลุถึงการจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลอย่างยั่งยืน และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายการจัดการผลประโยชน์ทางทะเลระดับชาติได้ต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้และสร้างโจทย์วิจัยที่นำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
- เพื่อพัฒนาฐานความรู้ข้อมูลทางทะเล เพื่อการจัดการ/ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
- เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์
แห่งชาติทางทะเล
วิธีการศึกษา
1. การจัดเวทีสังเคราะห์ความรู้
การจัดเวทีสังเคราะห์ความรู้ประกอบด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อวางกรอบการดำเนินงานการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล 1 ครั้ง การเสวนาชุด “โอกาสและสิ่งท้าทายในการใช้ทะเลของประเทศไทยอยู่ตรงไหน” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบประเด็นเกี่ยวกับการใช้ทะเลของประเทศไทยที่มีความสำคัญจากผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับระดมสมองเพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสและสิ่งท้าทายในการใช้ทะเลของประเทศไทยเพื่อจัดทำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การจัดทำโจทย์วิจัยในอนาคต โดยกำหนดหัวข้อการเสวนาเป็น 4 เรื่อง คือ ยุทธศาสตร์ทางทะเล การประมงและทรัพยากรมีชีวิต การขนส่ง และทรัพยากรไม่มีชีวิต
2. การจัดทำบทสังเคราะห์
การจัดทำบทสังเคราะห์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทะเลเฉพาะด้านที่สำคัญจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบัน ชี้ให้เห็นปัญหา โอกาสและสิ่งท้าทายเพื่อที่จะนำไปสู่การจัดทำโจทย์วิจัยในแต่ละด้านเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการศึกษาวิจัยในรายละเอียดของแต่ละด้านเพื่อนำผลการวิจัยไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำนโยบายต่อไป การจัดทำบทสังเคราะห์ในสาขาที่มีความสำคัญ 3 เรื่อง คือ ด้านการประมงและทรัพยากรมีชีวิต ด้านทรัพยากรไม่มีชีวิต ด้านการขนส่งทางทะเล และบทสังเคราะห์ ส่วนสุดท้าย ได้แก่ ด้านการประเมินมูลค่าด้านเศรษฐกิจของผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลเพื่อนำเสนอแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมในการประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลต่อไป
3. ระบบฐานข้อมูลทางทะเล
ฐานข้อมูลทางทะเลมีวัตถุประสงค์หลักที่จะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ทางทะเลในทุกมิติ ในรูปของบทบรรยาย บทความทางวิชาการ ข้อมูลเชิงสถิติและพื้นที่ ทั้งนี้ข้อมูลที่จะเผยแพร่จะมีสาระที่ต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ ข้าราชการ ภาคเอกชน และผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจะมีข้อมูลที่เก็บไว้เอง และการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ฐานข้อมูลหลักที่ได้จัดทำขึ้นก็คือ ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล (Marine Knowledge Hub) ฐานข้อมูลนี้มีเป้าหมายที่จะเป็นฐานข้อมูลเฉพาะด้านที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทะเลในทุกมิติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรวบรวบข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่แล้วที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ มาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกันและเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ท ประกอบด้วยข้อมูลในกลุ่มหลักๆ ดังนี้ 1) อาณาเขตทางทะเล 2) กฎหมาย 3) ทรัพยากรมีชีวิตและไม่มีชีวิต 4) กิจกรรมการใช้ประโยชน์ 5) พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและ 6) ข้อมูลจังหวัดชายทะเล
4. การสนับสนุนงานของคณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
โครงการได้ดำเนินการสรุปได้ดังนี้
- พัฒนาฐานข้อมูลระดับนโยบายที่จะนำไปใช้ในการเสนอนโยบายที่สำคัญ
- จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะด้านเพื่อสังเคราะห์ความรู้ในประเด็นที่มีความสำคัญ หรือเป็นประเด็นเร่งด่วน
- จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วน
- ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อผลักดันให้มีการจัดทำนโยบายทางทะเลระดับชาติ
5. การจัดทำโจทย์วิจัย
การจัดทำโจทย์วิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและบูรณาการโจทย์ที่ได้จากการการจัดเวทีสังเคราะห์ความรู้ และจากบทสังเคราะห์ เพื่อสรุปเป็นโจทย์วิจัยในภาพรวมเพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นในการจัดทำนโยบายแห่งชาติทางทะเลแบบบูรณาการ ทั้งนี้โดยยึดจากข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการเสวนา จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ และจากคณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
|